ประวัติความเป็นมา
ความเป็นมา
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำนั้นมีความหลากหลาย ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและจะยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่ง ขึ้นเนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่ทรัพยากรน้ำยังมีปริมาณอย่างจำกัด ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาวิศวกรผู้มีความรู้ ความสามารถทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ การจัดการโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ การออกแบบทางอุทกวิทยาและชลศาสตร์ การวิจัยพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ
ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ จึงได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 ในชื่อภาควิชาชลศาสตร์และอุทกศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ และ ได้มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ในปี พ.ศ. 2528 ได้มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท และในปี พ.ศ. 2541ได้เปิดสอนในระดับปริญญาเอก
วิศวกรรมทรัพยากรน้ำหมายถึงอะไร
วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ หมายถึง การบังคับน้ำ การจัดการ และการใช้ประโยชน์จากน้ำ ตลอดจนการจัดการคุณภาพน้ำ
- การบังคับน้ำ หมายถึง การควบคุมทั้งปริมาณและระดับน้ำที่มีมากเกินไป หรือน้อยเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตัวอย่างของการบังคับน้ำได้แก่ การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำ การผันน้ำ การกำหนดขนาดท่อลอดถนน การระบายน้ำส่วนเกินออกจากพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อพืชพันธุ์ธัญญาหาร
- การจัดการและการใช้ประโยชน์จากน้ำ หมายถึง การนำทรัพยากรน้ำจากแม่น้ำลำธาร แหล่งน้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุ ประสงค์ต่าง ๆ เช่น การนำน้ำมาใช้เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตประปา เพื่อการชลประทาน เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อการประมง เพื่อการกีฬา และการพักผ่อน เพื่อการปรับปรุงการสัญจรทางน้ำ และเพื่อการผลักดันน้ำเค็ม
- การจัดการคุณภาพน้ำ หมายถึง การนำทรัพยากรน้ำที่มีอยู่มาปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียที่เกิดจากครัวเรือนพื้นที่ เกษตรกรรมและจากโรงงานอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพดีขึ้นเช่นการนำน้ำจากแหล่งน้ำ มาแทนที่น้ำเสียในคลองระบายน้ำในเขตชุมชนหรือการปล่อยน้ำจากเขื่อนศรี นรินทร์มาไล่น้ำเสียในแม่น้ำแม่กลองตอนล่างให้ไหลลงสู่ทะเลเพื่อให้น้ำในแม่ น้ำแม่กลองมีคุณภาพดีขึ้นเป็นต้น
ระบบการศึกษา
ระบบการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
- ระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ชื่อปริญญา วศ.บ.(วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ)
- ระดับปริญญาโท หลักสูตร 2 ปี ชื่อปริญญา วศ.ม.(วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ)
- ระดับปริญญาเอก หลักสูตร 3 ปี ชื่อปริญญา วศ.ด.(วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ)
กิจกรรมการศึกษา
- ระดับปริญญาตรี
การเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี จะเน้นความรู้พื้นฐานทางด้านกลศาสตร์ของของไหล วิศวกรรมชลศาสตร์ วิศวกรรมแม่น้ำและชายฝั่งทะเล วิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม งานอุทกวิทยาของน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ และการจัดการทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางด้านวิศวกรรมโยธา เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบโครงสร้างอาคารชลศาสตร์ ฯลฯ อีกด้วยเพื่อให้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการวางแผน การพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีความเหมาะสมทาง เทคนิคมากที่สุด และให้การศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรน้ำ สถิติ สังคม กฎหมาย และการเมือง เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกโครงการที่นอกจากจะมีความเหมาะสมทางด้านเทคนิค แล้ว ยังมีความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการคลัง และเป็นที่ยอมรับทางสังคมอีกด้วย
นอกจากนี้แล้ว ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำยังเน้นให้นิสิตระดับปริญญาตรีได้มีความรู้ความ เข้าใจถึงงานด้านทรัพยากรน้ำอย่างแท้จริง โดยได้มีการศึกษาภาคสนามด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำที่นิสิตจะต้องไปสัมผัสและ เรียนรู้การทำงานด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการอ่างเก็บน้ำ โครงการชลประทาน ฯลฯ ด้วยตนเอง นอกเหนือจากการศึกษาภาคสนาม นิสิตยังได้มีโอกาสเรียนรู้จากรายวิชาต่าง ๆ ที่มีการดูงานตามเนื้อหาวิชาอีกด้วย - ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
การศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจะเน้นให้รู้จักวางแผน พัฒนาและจัดการโครงการทรัพยากรน้ำที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และเรียนรู้รายวิชาที่ลงลึกในรายละเอียดและการประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็น ระบบระบายน้ำในเมือง การจำลองสภาวะน้ำท่วม ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) ข้อมูลระยะไกล (Remote sensing) การจำลองแม่น้ำ ระบบช่วยการตัดสินใจในงานทรัพยากรน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสอนให้ทำการวิจัยทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำอีกด้วย
กิจกรรมเชิงวิชาการ
นอกเหนือจากการเรียนการสอนโดยปกติแล้ว ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์และนิสิตทั้ง ระดับปริญญาตรี โท และเอก ให้เข้าร่วมในกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติ
ในส่วนของนิสิตเอง ได้มีการนำเสนอผลงานในงานประชุมทางวิชาการต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น Tri-University Conference การประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ งานประชุมวิชาการมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ เป็นต้น รวมทั้งนิสิตบางส่วนได้เผยแพร่ผลงานในวารสารทางวิชาการอีกด้วย
ในส่วนของอาจารย์ ได้มีการทำวิจัยในเรื่องต่าง ๆ มากมาย ซึ่งได้มีการนำเสนอผลงานในที่ประชุมทางวิชาการระดับชาติและนานาชาติอย่าง สม่ำเสมอ รวมทั้งเผยแพร่ผลงานในวารสารทางวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งมีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล เช่น โครงการวิจัยหาความสัมพันธ์ระดับน้ำและปริมาณน้ำบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เป็นโครงการวิจัยเด่นของสำนักงานโครงการสนับสนุนการวิจัย นอกจากนี้แล้วภาควิชายังได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติในเรื่อง “Innovation in Water Resources Model”
งานด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ
งานที่วิศวกรทรัพยากรน้ำจะต้องทำประกอบด้วย การออกแบบขนาดน้ำท่วม การคำนวณหาปริมาณน้ำท่ารายวัน รายสัปดาห์ และรายปี ที่ไหลมาตามแม่น้ำลำธาร เพื่อการออกแบบขนาดอ่างเก็บน้ำเขื่อนทางระบายน้ำล้น ประตูเรือสัญจร ประตูระบายน้ำ อาคารประกอบของเขื่อน คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ ท่อส่งน้ำ ขนาดสูบน้ำ กังหันน้ำ อาคารแบ่งน้ำ ทำนบริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อป้องกันการไหลบ่าของน้ำ การออกแบบระบบระบายน้ำในเขตเมือง มหานคร และในพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีงานอื่น ๆ เช่น การสำรวจหาปริมาณน้ำใต้ดิน การออกแบบบ่อน้ำบาดาล การศึกษาคลื่นในทะเล ตลอดจนการออกแบบท่าเทียบเรือ การป้องกันการพังทลายของตลิ่ง เป็นต้น
นับตั้งแต่ภาควิชาได้ก่อตั้งมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปี ภาควิชาได้ผลิตบัณฑิตมากกว่า 500 คนและมหาบัณฑิตมากกว่า 150 คน ซึ่งบัณฑิตและมหาบัณฑิตเหล่านี้ได้ปฏิบัติงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ของประเทศ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การประปาภูมิภาค การประปานครหลวง ฯลฯ ตลอดจนบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาทั้งด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและด้านวิศวกรรม โยธา